ประกาศ/ระเบียบ/ข้อบังคับ
 

บทบาทและหน้าที่ของสถานประกอบการ

๑. คุณสมบัติสถานประกอบการต่อสหกิจศึกษา
สถานประกอบการ หมายถึง สถานประกอบการที่ได้ตกลงทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU ) โครงการความร่วมมือในการจัดการศึกษา “สหกิจศึกษา” ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กับ สถานประกอบการ
 
๑.๑ การเตรียมความพร้อมของสถานประกอบการ
(๑) กำหนดกรอบงาน และจัดโปรแกรมการทำงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา
(๒) กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบและพนักงานที่ปรึกษา
(๓) กำหนดคุณสมบัติของนักศึกษาที่ต้องการรับเข้าปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
(๔) แนะนำหรือจัดหาที่พักให้กับนักศึกษาสหกิจศึกษา ในกรณีบ้านพักอาศัยของนักศึกษาอยู่ไกลจากสถานประกอบการ
(๕) พร้อมที่จะให้ความอนุเคราะห์ค่าตอบแทนในอัตราที่สมควร และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ 
(๖) พร้อมที่จะดูแลนักศึกษาสหกิจศึกษา ให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้งานให้เต็มศักยภาพที่สถานประกอบการจะพึงให้ได้
 
๑.๒ บทบาทและหน้าที่ของสถานประกอบการต่อสหกิจศึกษา
สถานประกอบการเป็นองค์กรที่มีความสำคัญที่จะพัฒนานักศึกษาโดยวิธีการของสหกิจศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติสหกิจศึกษามีรูปแบบและขั้นตอนที่จะเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากสถานประกอบการ
(๑) กำหนดตำแหน่งงาน รายละเอียดของลักษณะงาน กำหนดหัวข้อโครงงานที่ต้องการให้นักศึกษาสหกิจปฏิบัติต่อโครงการสหกิจศึกษา ก่อนล่วงหน้า ๑ ภาคการศึกษา
(๒) ฝ่ายบุคคลหรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ดำเนินการปฐมนิเทศ อบรม เพื่อให้นักศึกษาสหกิจศึกษาทราบถึงระเบียบวินัย วัฒนธรรม การรักษาความปลอดภัยในการทำงาน ให้ความรู้เกี่ยวกับสถานประกอบการ โครงสร้างการบริหารงานของสถานประกอบการ
(๓) จัดให้มีผู้ดูแลนักศึกษา ซึ่งเรียกว่า พนักงานที่ปรึกษา (Jop Supervisor) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่นักศึกษาสหกิจศึกษาตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงาน ประสานกับอาจารย์ที่ปรึกษา และประเมินผล
(๔) กำหนดค่าตอบแทนตามสมควร ตามนโยบายของแต่ละสถานประกอบการ 
 
พนักงานที่ปรึกษา (Job Supervisor) หมายถึง บุคคลหรือเจ้าหน้าที่สถานประกอบการมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของนักศึกษา อาจจะเป็นผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานในการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลา ๑ ภาคการศึกษา จึงเปรียบเสมือนอาจารย์ของนักศึกษา ณ สถานประกอบการ เป็นผู้ที่ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาทั้งทางด้านปฏิบัติงานและการปรับตัวเข้ากับการปฏิบัติงานของนักศึกษา ดังนั้น พนักงานที่ปรึกษา จึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดที่จะทำให้การปฏิบัติงานสหกิจศึกษาของนักศึกษาสหกิจศึกษาสำเร็จไปด้วยดีโดยมีหน้าที่ ดังนี้ 
๑. กำหนดลักษณะงาน (Jop Description) และแผนการปฏิบัติงาน (Co-op Work Plan) กำหนดตำแหน่งงานและขอบข่ายหน้าที่งานนักศึกษาที่จะต้องปฏิบัติและแจ้งให้นักศึกษารับทราบ งานที่ได้รับมอบหมายจะมีลักษณะงานตรงตามสาขาวิชาของนักศึกษาสหกิจศึกษา โดยมีการกำหนดแผนงานการปฏิบัติงานรายสัปดาห์ให้แก่นักศึกษาสหกิจศึกษา
๒. การให้คำปรึกษา ให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางการทำงานและการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ที่มีให้กับนักศึกษาสหกิจศึกษา รวมทั้งให้ความร่วมมือด้านการประสานงานกับอาจารย์นิเทศนักศึกษาสหกิจ
๓. แนะนำการจัดทำรายงานสหกิจศึกษาฯ กำหนดให้นักศึกษาจัดทำรายงาน ๑ ฉบับ เสนอต่อสถานประกอบการ ประกอบด้วยเนื้อหาที่สถานประกอบการจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อาจมีลักษณะดังนี้
๓.๑ โครงการหรืองานวิจัยฉบับนี้ หากนักศึกษาได้รับมอบหมายเป็นโครงการ (Project) หรืองานวิจัย (Research) นักศึกษาจะต้องทำรายงานในหัวข้อของโครงการหรืองานวิจัย ดังกล่าว
๓.๒ ในกรณีที่ได้รับมอบหมายเป็นงานประจำ (Routine) เช่น งานในสายการผลิตงานระบบคุณภาพ งานบำรุงรักษา งานตรวจสอบคุณภาพ นักศึกษาสหกิจศึกษาเขียนรายงานดังนี้
- รายงานและขั้นตอนการปฏิบัติงานประจำที่ได้รับมอบหมายทั้งหมดหรือบางส่วน
- รายงานหัวข้อพิเศษ (Special Assignment หรือ Project) เป็นหัวข้อที่สถานประกอบการสนใจ ในลักษณะโครงงานหรือปัญหาพิเศษให้นักศึกษาค้นคว้าสรุปและวิจารณ์ รวบรวมไว้เป็นเล่มเพื่อใช้เป็นประโยชน์ ต่อหัวข้อของรายงานอาจจะไม่สัมพันธ์กันกับงานประจำของนักศึกษาก็ได้
เมื่อพนักงานที่ปรึกษากำหนดหัวข้อรายงานแล้ว นักศึกษาต้องจัดทำ Report Outline (ตามแบบที่กำหนด) โดยหารือกับพนักงานที่ปรึกษา แล้วจัดส่งให้สำนักสหกิจศึกษาคณะ/วิทยาลัย เพื่อส่งมอบให้อาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำสาขาวิชา ให้ความเห็นชอบ จึงจะจัดส่งคืนให้แก่นักศึกษาต่อไป ลักษณะรายงานจะมีรูปแบบรายงานตามรายงานวิชาการ นักศึกษาจะต้องจัดพิมพ์รายงานให้เรียบร้อย และส่งให้พนักงานที่ปรึกษาตรวจสอบและประเมินผล อย่างน้อย ๒ สัปดาห์ก่อนสิ้นสุดการปฏิบัติงาน
๔. การจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการนิเทศนักศึกษาสหกิจศึกษา ระหว่างการปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา เจ้าหน้าที่สหกิจศึกษา (Co-op Coordinator) จะประสานงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา (Co-op Advisor) เพื่อขอนัดหมายเข้ามานิเทศนักศึกษาสหกิจศึกษา
ณ สถานประกอบการโดยจะมีหัวข้อการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือพนักงานที่ปรึกษา ดังนี้
- ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากการดำเนินการโครงการฯ เพื่อพัฒนาหลักสูตร
- ลักษณะงานที่มอบหมายให้นักศึกษาปฏิบัติ
- แผนการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน
- หัวข้อรายงานสหกิจศึกษาและความก้าวหน้า
- การพัฒนาตนเองของนักศึกษา
- ผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาและความประพฤติ
- ปัญหาต่าง ๆ ที่สถานประกอบการพบเจอเกี่ยวกับการมาปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา
๕. ประเมินผลการปฏิบัติงานนักศึกษาสหกิจศึกษา 
- พนักงานที่ปรึกษาต้องตรวจแก้ไขรายงานให้นักศึกษาสหกิจศึกษาและประเมินผลเนื้อหาและการเขียน  รายงานภายในสัปดาห์สุดท้ายของการปฏิบัติงานของนักศึกษาโดยแก้ไขรายงานให้สมบูรณ์ก่อนกลับมหาวิทยาลัย
- แจ้งการประเมินผลการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา โดยอาจจะแจ้งให้นักศึกษาสหกิจศึกษาทราบ จากนั้นมอบผลการประเมินให้นักศึกษานำส่งหรือจัดส่งให้กับอาจารย์นิเทศทราบโดยตรงต่อไป